วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

[อยากสูงขึ้น] ชนิดผักที่มีแคลเซียม

เขียนโดย    ที่    ไม่มีความคิดเห็น:
 

กินผักก็มีแคลเซียมได้

 1.หมาน้อยมีแคลเซียม 423 มิลลิกรัม
หมาน้อย ที่มีขาเป็นเครือพันกับเสาหลัก สามารถผลิตวุ้นธรรมชาติ ยาเย็น อาหารเพื่อสุขภาพของพี่น้องชาวอีสานไทย-ลาว  ตอนที่เป็นเด็ก ๆ เดินเข้าไปในชายทุ่งนาและในป่าจะเห็น ไม้เถาเลื้อย เป็นเครือ พันกับหลักหรือพันกับต้นไม้ ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบเป็นแบบก้นปิด หน้าใบและหลังใบมีขนปกคลุมหนา เวลาเอามือลูบที่ใบจะเป็นขนมัน นุ่ม ๆ เหมือนขนหมาน้อย ชาวบ้านจะเรียกว่า ต้น เครือหมาน้อย  ใช้ปรุงผสมกับน้ำ ใบย่านาง ซึ่งพืชทั้งสองชนิด เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาปรุงรสกับปลาป่น ป่นกบ น้ำที่ปรุงจะข้นจนเกิดเป็นวุ้น...ส่วนวิธี การปรุงอาหาร ประเภทนี้คือ เลือกใบ 
เครือหมาน้อย ที่มีสีเขียวเข้มโตเต็มที่ ๑๐-๓๐ ใบ ล้างใบแล้วนำมาขยี้กับน้ำสะอาด ๑ ถ้วย ในขณะที่ขยี้ใบ จะมีความรู้สึกว่าน้ำที่ขยี้ออกมามีลักษณะเมือกลื่นๆ หลังจากนั้นกรองเอากากใบเครือหมาน้อยออก นอกจากนั้นคั้นน้ำจากใบย่านาง ผสมลงไปด้วยเพื่อทำให้วุ้นแข็งตัวอย่างรวดเร็ว เทน้ำวุ้นดังกล่าว ลงไปในถ้วนป่นกบหรือปลาป่นที่ปรุงรสชาดแล้ว หั่นหัวหอม น้ำปลา ข้าวคั่ว ใบหอม และผักชี ถ้าอยากแซบมากกว่านี้ ผสมน้ำปลาร้าสักหน่อย แต่ถ้าปรารถนาจะทานเป็นของหวาน คั้นน้ำใบเตยใส่เพิ่มลงไปสักนิดเพื่อกลิ่นหอม ใส่เกลือเล็กน้อย เพื่อช่วยให้วุ้นแข็งตัวเร็วขึ้น  เทใส่ถ้วยทิ้งไว้พอประมาณ น้ำคั้นจะจับตัวเป็นวุ้น ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า วุ้นหมาน้อย เติมน้ำตาลลงไปสักหน่อยทำให้มีรสหวาน ใช้ทานเป็นอาหารว่าง รสชาดอร่อยมาก  จากการศึกษา เกี่ยวกับสรรพคุณทางยา วุ้นหมาน้อยมีประโยชน์ทางยาหลายประการคือ เป็นยาเย็น ช่วยย่อย แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ปวดหลัง ปวดเอว แก้เจ็บคอ

                        กินผักก็มีแคลเซียมได้   กินผักก็มีแคลเซียมได้
2.ผักแพวมีแคลเซียม 390 มิลลิกรัม
ผักแพวเป็นผักพื้นบ้านจำพวกพืชล้มลุกที่มีลักษณะใบเรียวยาวและมีกลิ่นแรงชนิดหนึ่ง ผักแพวเป็นผักที่อยู่ในวงศ์ POLYGONACEAE ซึ่งตัวอย่างของพืชที่อยู่ในวงศ์นี้นอกจากมีผักแพวแล้วก็ยกตัวอย่างเช่น ผักไผ่น้ำ เป็นต้น
ผักแพว เป็นผักปลูกในกระถางจะง่ายและขายเป็นกระถางได้เลย 
ผักแพว เป็นชื่อที่รู้กันทั่วทั้งแผ่นดินไทย แต่ด้วยความเป็นผักพื้นบ้านนี่เอง ทำให้ผักแพวมีหลายชื่อต่างไปตามถิ่น ภาคอีสานเรียกว่าผักแพ้ว ผักพริกม้า (ทางอีสานออกเสียง "พิกม่า") ผักจันทน์โฉม (เรียกกันมากในจังหวัดนครราชสีมา) ภาคเหนือเรียกผักไผ่ เพราะผักแพวมีลักษณะลำต้นคล้ายต้นไผ่ มีข้อตามต้นเหมือนเป็นปล่องไผ่ มีใบยาวรี ปลายแหลมเหมือนใบไผ่ เพราะลักษณะที่เหมือนไผ่ดังกล่าวนี้เอง ผักแพวจึงรู้จักแพร่หลายต่อมาในชื่อว่า "ผักไผ่"   
ผักแพว นิยมกินเป็นผักแกล้มอาหารรสจัดๆ ทุกชนิด ถือเป็นผักชนิดสำคัญที่ขาดจากกระจาดผักกินแนมของอาหารอีสาน อาหารเหนือ หรือแม้แต่อาหารเวียดนามไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะผักแพวมีรสชาติเฉพาะตัว มีกลิ่นหอม มีรสร้อนแรง กินมากๆ จะรู้สึกว่ามีรสปร่าในปาก ผักแพวนิยมนำไปคลุกเป็นเครื่องปรุงสด อาหารประเภทลาบ โดยเฉพาะก้อยกุ้งสด (กุ้งฝอย กุ้งน้ำจืด) นอกจากนี้ยังใส่แกงประเภทปลารสจัดเพื่อตัดกลิ่นคาวปลาอีกด้วย นำมาใส่ปรุงรสอาหารประเภทหอยขมสารพัดการปรุงแบบพื้นบ้าน ทางภาคเหนือนิยมนำมาใส่ต้มยำ โดยเฉพาะลาบ ถ้าขาดผักแพวก็ถือว่าไม่ใช่ลาบทางเหนือเลยทีเดียว  แต่เดิมเมื่อไม่นานมานี้ ผักแพวไม่มีการซื้อขาย หากแต่ไปเก็บเอาตามธรรมชาติหรือไม่ก็ขอจากสวนครัวเพื่อนบ้าน เพราะผักแพวปลูกง่าย โตเร็ว ชอบอากาศเย็น จึงเจริญเติบโตดีในฤดูหนาวและยุบตัวในฤดูร้อนจัดๆ แต่ถ้าหมั่นรดน้ำให้อยู่ในที่แดดรำไรหรืออยู่ตามโคนต้นไม้ใหญ่ เราก็สามารถปลูกผักแพวให้กินกันได้ทั้งปี
ผักแพวเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติทางยาสมุนไพร มีรสเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณในการขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีฟอสฟอรัสสูง มีวิตามินเอสูงมาก นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมและวิตามินซีอีกด้วย
                                             
 
3.ยอดสะเดามีแคลเซียม 384 มิลลิกรัม
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis  Valeton
ชื่อสามัญ : Siamese neem tree, Nim ,Margosa,Quinine
วงศ์ :  Meliaceae  ชื่ออื่น : สะเลียม (ภาคเหนือ)  กะเดา (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ดอกช่อดอก  ขนอ่อน ยอด เปลือก ก้านใบ กระพี้ ยาง แก่น ราก ใบ ผล ต้น เปลือกราก น้ำมันจากเมล็ด ไม้ต้น สูง 5-10 เมตร เปลือกต้นแตกเป็นร่องลึกตามยาว ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับรูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. โคนใบมนไม่เท่ากัน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งขณะแตกใบอ่อน ดอกสีขาวนวล กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก โคนติดกัน กลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผล รูปทรงรี ขนาด 0.8 - 1 ซม. ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว สุกเป็นสีเหลืองส้ม เมล็ดเดี่ยว รูปรี
ส่วนที่ใช้ :สรรพคุณ : ดอก ยอดอ่อน  - แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ ขับลม ใช้เป็นอาหารผักได้ดีขนอ่อน - ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ
เปลือกต้น - แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน บิดมูกเลือด
ก้านใบ - แก้ไข้ ทำยารักษาไข้มาลาเรีย
กระพี้ - แก้ถุงน้ำดีอักเสบ
ยาง - ดับพิษร้อน
แก่น - แก้อาเจียน ขับเสมหะ
ราก - แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ ซึ่งเกาะแน่นอยู่ในทรวงอก
ใบ,ผล - ใช้เป็นยาฆ่าแมลง บำรุงธาตุ
ผล มีสารรสขม - ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และยาระบาย แก้โรคหัวใจเดินผิดปกติ
เปลือกราก - เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง
น้ำมันจากเมล็ด - ใช้รักษาโรคผิวหนัง และยาฆ่าแมลง
วิธีและปริมาณที่ใช้ : เป็นยาขมเจริญอาหาร
ช่อดอกไม่จำกัด ลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวาน หรือน้ำพริก หรือใช้เปลือกสด ประมาณ 1 ฝ่ามือ ต้มน้ำ 2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/2 ถ้วยแก้ว
ใช้เป็นยาฆ่าแมลงสะเดาให้สารสกัดชื่อ Azadirachin ใช้ฆ่าแมลงโดยสูตร สะเดาสด 4 กิโลกรัม ข่าแก่ 4 กิโลกรัม  ตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม นำแต่ละอย่างมาบดหรือตำให้ละเอียด หมักกับน้ำ 20 ลิตร 1 คืน น้ำน้ำยาที่กรองได้มา 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ใช้ฉีดฆ่าแมลงในสวนผลไม้ และสวนผักได้ดี โดยไม่มีพิษและอันตราย
สารเคมี : ผล   มีสารขมชื่อ bakayanin   ช่อดอก  มีสารพวกไกลโคไซด์ ชื่อ nimbasterin 0.005% และน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5%  นอกนั้นพบ  nimbecetin, nimbesterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขมเมล็ด  มีน้ำมันขมชื่อ margosic acid 45% หรือบางที่เรียก Nim Oil และสารขมชื่อ nimbin, nimbidin
Nim Oil  มี nimbidin  เป็นส่วนมากและเป็นตัวออกฤทธิ์มีกำมะถันอยู่ด้วย

                                           
4.กะเพราขาวมีแคลเซียม 221 มิลลิกรัม
กะเพรา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Ocimum sanctum)  เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขา สูง 30 - 60 ซม. นิยมนำใบมาประกอบอาหารคือ ผัดกะเพรา กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาว และ กะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว
กะเพรามีชื่อสามัญอื่นอีกคือ กอมก้อ (เชียงใหม่) กอมก้อดง (เชียงใหม่) กะเพราขน (กลาง) กะเพราขาว (กลาง) กะเพราแดง (กลาง) ห่อกวอซู (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ห่อตูปลู (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) อิ่มคิมหลำ (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) และ อีตู่ไทย (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ลักษณะ: ลำต้นค่อนข้างแข็ง ตามลำต้นมีขน ใบเป็นใบเดี่ยวการเกาะติดของใบบนกิ่งแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2.5-5 ซม. ใบปลายแหลมหรือมน โคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขน ดอกเป็นแบบช่อฉัตร ออกบริเวณปลายยอดและปลายกิ่ง ยาว 8-10 ซม. ดอกย่อยมีขนาดเล็ก รูปคล้ายระฆัง กลีบดอกมีทั้งชนิดสีขาวลายม่วงแดงและสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนบนแยกเป็น 4 กลีบปลายแหลมเรียว ส่วนล่างมีกลีบเดียวค่อนข้างกลม ผิวกลีบด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนตามโคนกลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงน้ำตาลแกมม่วง และสีเขียว เนื้อกลีบแข็ง ส่วนโคนเชื่อมติดกันเป็นกรวย ส่วนปลายแยกเป็นกลีบปลายแหลมแบบหนาม ก้านดอกย่อยสีเขียว ยาวประมาณ 0.20 - 0.30 ซม. ผลแห้งแล้วแตกออก เมล็ด เล็ก รูปไข่สีน้ำตาล มีจุดสีเข้มเมื่อนำไปแช่น้ำเปลือกหุ้มเมล็ดพองออกเป็นเมือก
สรรพคุณ :ใบ บำรุงธาตุไฟธาตุ ขับลมแก้ปวดท้องอุจจาระ แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน และขับลม
เมล็ด : เมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย
ราก : ใช้รากที่แห้งแล้ว ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการน้ำสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด
ใบและกิ่งสดเมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่น (hydrodistillation) ได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08-0.10 ซึ่งมราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม
 
5.ใบขี้เหล็กมีแคลเซียม 156 มิลลิกรัม

ขี้เหล็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Senna siamea Lam.) จัดเป็นพืชในวงศ์Leguminosae นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลางบางที่) ผักจี้ลี้ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มาเลย์-ปัตตานี) และขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้) เป็นต้น 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงปานกลาง ผลัดใบ สูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมักคดงอเป็นปุ่มเปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาลดำ ยอดอ่อนสีแดงเรื่อๆ ใบประกอบเป็นแบบขนนก เรียงสลับกัน มีใบย่อย 5-12 คู่ ปลายสุดมีใบเดียว ใบย่อยรูปขอบขนานด้านบนเกลี้ยง ดอกช่อสีเหลืองอยู่ตามปลายกิ่ง ดอกจะบานจากโคนช่อไปยังปลายช่อ กลีบเลี้ยงมี 3-4 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้10 อัน ผลเป็นฝักแบนยาวมีสีคล้ำ เมล็ดรูปไข่ยาวแบนสีน้ำตาลอ่อนเรียงตามขวางมี 20-30 เมล็ด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ส่วนของดอกและใบขี้เหล็กใช้เป็นอาหารในหลายประเทศ เช่น ไทย พม่า อินเดีย และมาเลเซีย เป็นต้น ในตำราการแพทย์แผนไทยได้มีการบันทึกประโยชน์ของขี้เหล็กในหลายด้าน เช่น ใช้แก้อาการท้องผูก ใช้แก้อาการนอนไม่หลับ ใช้ทำความสะอาดเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื่นเป็นเงางาม ไม่มีรังแค ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี และบำรุงโลหิต เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2485 ศาสตราจารย์ นพ.อวย เกตุสิงห์ ได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นขี้เหล็ก พบว่าใบและดอกขี้เหล็กทำให้เกิดอาการง่วงซึมและมีพิษน้อยกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ ที่ได้ศึกษา ต่อมาจึงมีผู้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดใบขี้เหล็กอีกครั้งโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษได้รายงานว่าสามารถสกัดสารชนิดใหม่จากใบขี้เหล็กได้ โดยตั้งชื่อว่าบาราคอล (barakol)
 
6.ใบเหลียงมีแคลเซี่ยม 151 มิลลิกรัม
ผักเหลียง เป็นพืชยืนต้นที่มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑-๒ เมตร มีใบเรียวยาว สามารถนำยอดของผักเหลียงมารับประทานได้ โดยนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดผักเหลียงใส่ไข่ แกงเลียงผักเหลียงใส่กุ้ง หรือ นำมาต้มกะทิ ใช้รองห่อหมก ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานมากของชาวภาคใต้ผักเหลียงจัดเป็นผักพื้นบ้านประเภทไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีมากแถบจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะจังหวัดระนอง เขาถือเป็นผักประจำถิ่นเลย ถึงขนาดพูดกันว่า ถ้ามาระนองแล้วไม่ได้กินผักเหลียงแสดงว่ายังมาไม่ถึง ว่ากันว่าถ้าจะกินผักเหลียงที่มีรสหวานอร่อยแล้วละก็ ต้องเป็นผักเหลียงที่ขึ้นในร่ม หรือไม่ก็ต้องหลังฤดูฝนไปแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ผักเหลียงเริ่มแตกใบใหม่ แหล่งดั้งเดิมของผักเหลียงขึ้นอยู่ตามป่าเขา ที่ราบ บางครั้งก็เห็นขึ้นเคียงข้างกับต้นสะตอและต้นยางด้วยรสชาติที่ออกจืดๆ มันๆ ของผัก เหลียง คนใต้จึงนิยมนำมากินสดเป็นผักเหนาะ กับขนมจีน น้ำยาปักษ์ใต้ และนำไปประกอบอาหารต่างๆ ลักษณะของผักเหลียงที่อร่อย คนใต้เขาแนะนำให้เลือกใบที่เป็นเพหลาด คือไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป ใบจะออกรสหวานนิดๆ และนอกจากความอร่อยแล้ว ผักเหลียงยังมีสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยป้องกันโรคตาฟางในตอนกลางคืน
นอกจากนี้ยังมีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส อีกด้วยอาหารยอดนิยมจากผักเหลียงที่ขึ้นชื่อของ เมืองใต้คือ "ผักเหลียงต้มกะปิ" หรือที่รู้จักกันดีว่า "แกงเคย" กรรมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากเลย เพียงต้มน้ำให้เดือด ใส่กะปิ หอมแดงบุบ น้ำตาลทราย พอเครื่องเดือดทั่วกันก็ใส่ผักเหลียงได้เลย ส่วนใหญ่ใส่กันทั้งใบ ไม่เด็ดก้านใบทิ้ง เพราะก้านทำให้น้ำแกงมีรสหวาน พอใส่ผักเหลียงแล้วยกลงได้เลย เคี่ยวนานไปผักจะสลดหมด แกงหม้อนี้ใช้เกลือปรุงรสแทนน้ำปลา แต่อาจเสริมรสชาติความอร่อย ด้วยการใส่กุ้งแห้งหรือกุ้งใหญ่ลงไปด้วย (กุ้งใหญ่ที่ว่านี้ก็คือกุ้งก้ามกรามนั่นเอง) รสชาติเหมือนแกงเลียง ต่างกันตรงที่เครื่องแกงของแกงเลียงจะนำมาโขลกก่อน แล้วจึงใส่ลงในหม้อแกง แต่แกงผักเหลียงนี้ไม่ต้องนำเครื่องแกงไปโขลกนอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำอาหารจานผัดที่แสนธรรมดา แต่รสชาติไม่ธรรมดาอย่าง "ผักเหลียงผัดไข่" วิธีทำจะว่าไปแล้วก็เหมือนพวกหัวไชโป๊ผัดไข่ มะละกอสับผัดไข่ เพียงแต่เราเปลี่ยนเป็นใบเหลียงเท่านั้น รับประทานกันข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยไปอีกแบบ แม้แต่ห่อหมกของคนใต้ยังนิยมใช้ใบเหลียงมารองก้นกระทง นอกเหนือไปจากใบโหระพา ผักกาดขาว และใบยออีกด้วย หรือจะนำมาต้มกับกะทิเป็น "ผักเหลียงต้มกะทิ" ก็ได้
 
7. ยอดมะยมมีแคลเซียม 147 มิลลิกรัม
มะยม เป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่เบี้ยว หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ตำราไทยใช้ รากแก้ไข รักษาโรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน ใบ ต้มน้ำอาบแก้คัน แก้ไข้ เหือด หิด อีสุกอีใส 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3 – 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล ใบ เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 – 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ ผล เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด

 
8.ผักแส้วมีแคลเซียม  142 มิลลิกรัม
ชื่ออื่น ผักแส้วหรือ ผักแซ่ว(Marsdenia glabraCost .) (เหนือ) เถาวัลย์ดำ (สระบุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ลำต้น เป็นไม้เลื้อย ลำต้นเป็นเถากลมขนาดเล็กสีเขียว บางช่วงเลื้อยงอไปงอมา เถามีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.01-0.15 ซม.  ใบ ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามกัน ใบมีสีเขียวเป็นรูปหอกปนรูปไข่กว้าง2-4ซม.
ใบยาว 4-12 ซม. ก้านใบสั้น 0.05-2 ซม. หลังใบสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ  ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม  ดอก ดอกมีกลีบดอกสีขาว กลีบดอกเล็กเรียวแหลมยาว 3-5 เมตรดอกมีกลิ่นหอม  ผล ผลมีขนาดเล็ก กว้าง 6 มม. ยาว 5 ซม.  เมล็ด มีขนาดเล็ก
การขยายพันธุ์ เหง้า   ฤดูเก็บส่วนขยายพันธุ์ ทุกฤดู  สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ที่รกร้างใกล้หมู่บ้านหรือนำมาปลูกไว้บริเวณรั้วบ้านเพื่อเก็บยอดไว้รับประทาน และเป็นไม้ประดับ
การใช้ประโยชน์ ทางอาหาร ยอดอ่อนและใบอ่อนสด มีรสขมอมหวาน นำมายำกับปลาทูนึ่ง ใบอ่อนสดเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกไข่มดแดงหรือนำมาแกงกับปลาแห้งหรือนำมาแกงแคร่วมกับผักชนิดต่าง ๆ หรือนำมาลวกนึ่ง
เป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริกเเดงหรือน้ำพริกปลาร้า
ทางยา ใบ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้กระหายน้ำ บำรุงร่างกาย ดอก บำรุงหัวใจบไำรุงครรภ์รักษาแก้ไข้
ตัวร้อน ราก ถอนพิษยาเบื่อเมา ถอนพิษไข้ถอนพิษอักเสบต่างๆ
ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ ตลอดปี แตกยอดในฤดูฝน
 
9.ดอกผักฮ้วนมีแคลเซี่ยม 113 มิลลิกรัม 

ชื่อที่เรียก : ผักฮ้วน
ชื่ออื่นๆ : ผักฮ้วนหมู, กระทุงหมาบ้าหรือ คันชุนสุนัขบ้า (ไทยภาคกลาง), เครือเขาหมู, ผักฮ้วนหมู (ภาคเหนือ), มวนหมูกวาง (เพชรบุรี), เถาคัน (ปักษ์ใต้)
หมวดหมู่ทรัพยากร : ยังไม่ได้ระบุ
ลักษณะ : ผักฮ้วนเป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่ขึ้นพันไม้อื่น เป็นพันธุ์ไม้ป่าแต่นำมาปลูกกันแพร่หลายในบางท้องที่ เช่น ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเถามียางขาวๆ ใบกลม ปลายใบแหลมคล้ายใบบอระเพ็ดหรือชิงช้าชาลี แต่ใบหนาและแข็งกว่า ใบอ่อนและยอดใช้
เป็นผักจิ้มได้สดๆ หรือแกงกับผักชนิดอื่น ดอกสีเขียวออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ใช้แกงหรือจิ้มกับน้ำพริก หรือส้มตำมะม่วง
ประโยชน์ : ตามสรรพคุณยาโบราณกล่าวว่า เถามีรสเบื่อเอียน รากกระทุ้งพิษ ขับพิษร้อน พิษไข้ พิษไข้หัว พิษผีไข้กาฬ ให้ซ่านออกมาจากภายใน ดับความร้อน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้พิษน้ำดีกำเริบให้ละเมอเพ้อพก หลับ ๆ ตื่น ๆ น้ำตาตกหนัก แสบร้อนหน้าตา ปวดศีรษะเชื่อมมัว นอกจากนี้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอะซิน และวิตามินต่าง ๆ
 
10.ผักแมะมีแคลเซียม 112 มิลลิกรัม
ผักแมะ : Momordica subangulata Blume Cucurbitaceaeไม้เถาล้มลุก ยาว 1-3 ม. มีหัวใต้ดิน ลำต้นเกลี้ยง ดอกแยกเพศต่างต้น มือจับไม่แตกแขนง ใบเดี่ยว เรียงสลับ แฉกป็นพู 3-5 แฉกตื้นๆ หรือเรียบ ใบรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 20 ซม. ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบจักฟันเลื่อย ปลายตักเป็นติ่ง แผ่นใบไม่มีต่อม ก้านใบยาว 2-6 ซม ช่อดอกมีดอกเดียว ช่อดอกเพศผู้ มีใบประดับกลมๆ ขนาด 1-1.5 x 1-2 ซม. มีขนด้านนอก ก้านดอกยาว 3-5 มม. ฐานดอกรูปถ้วยปากกว้าง ขนาด 2 x 4 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาว 0.4-1 ซม. กลีบดอกรูปไข่กลับ ยาว 2-3 ซม. ที่โคนกลีบ 2 กลีบ มีแผ่นเกล็ดกลมๆ กลีบที่ไม่มีแผ่นเกล็ดมีปื้นสีดำที่โคนกลีบด้านใน ก้านเกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 มม. มีขนที่โคน อับเรณูชิดกันเป็นทรงกลม ปลายย่น โคนเป็นพูพับไปมา ช่อดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว 3-10 ซม. ใบประดับขนาดเล็กติดใต้จุดกึ่งกลางก้านช่อดอก ก้านดอกยาว 1.5-9 ซม. กลีบเลี้ยงรูปแถบ ยาว 4-5 มม. กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว 2-2.5 ซม. รังไข่รูปกระสวย ยาว 0.8-1.2 ซม. เป็นสันปุ่มเล็กๆ ตามยาว 8-10 สัน มีขนหยาบยาว ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 พู ปลายแยก 2 แฉก ผลทรงรี ยาว 3-5 ซม. เกลี้ยงหรือมีขนละเอียด มีสันตามยาว 8-10 สัน ก้านผลยาว 4-15 ซม. เมล็ดจำนวนมาก แบน ยาว 6-7 ซม.ผักแมะมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบตั้งแต่จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นที่โล่ง ชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา จนถึงระดับวามสูงประมาณ 1100 เมตร 

หมายเหตุ ในไทยพบอีกชนิดย่อยคือ var. renigera (G. Don) W.J. de Wilde & Duyfjes ที่มีลักษณะต้นดูหนากว่า ใบประดับในช่อดอกเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่า และผลมีขนหยาบยาวหนาแน่น  โดยแคลเซียม มีบทบาทหลักคือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยในการแข็งตัวของเลือด และควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น